วันที่ 30 พ.ย. 2566 เวลา 08:30 – 15:00 น. สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) ในฐานะศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Bangkok Rescue Coordination Centre : BKKRCC) ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมการติดต่อสื่อสารระดับภูมิภาค (Regional SAR Communication Exercise : Regional SARCOMEX) ร่วมกับศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia Rescue Coordination Centre : Indonesia RCC) และศูนย์ประสานงานค้นหา
และช่วยเหลือเรือประสบภัย ประเทศมาเลเซีย (Putrajaya Maritime Search and Rescue Coordination Centre : Putrajaya MRCC) โดยการฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้เป็นการฝึกซ้อมฯ ร่วมกัน
ครั้งแรกของทั้ง 3 ประเทศโดยดำเนินการผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล์ และ Application Zoom 
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. พัฒนาทักษะในการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน เมื่อมีเหตุการณ์เรือประสบภัย ในเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue Region : SRR) เขตแถลงข่าวการบิน (Flight Information Region : FIR) และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone : EEZ) ของทั้ง 3 ประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการวางแผนการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัยร่วมกัน

2. ได้ทราบถึงข้อจำกัดในการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานฯ และจนท. RCC เพื่อนำมาแก้ไขและพัฒนาต่อไป

3. ได้พัฒนาความสัมพันธ์อันดีและเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านการค้นหา
และช่วยเหลือเรือประสบภัย ร่วมกันระหว่าง RCC ของทั้ง 3 ประเทศ

                  สถานการณ์การฝึกซ้อมฯ จำลองสถานการณ์การค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล
(Scenario) คือ ในวันที่ 30 พ.ย. 2566 เวลา 02.00 น. (UTC) หรือเวลา 09.00น. ตามเวลาประเทศไทย BKKRCC ได้รับแจ้งเหตุจาก Indonesia RCC ว่ามีเรือท่องเที่ยวชื่อ Catamaran ITM สัญชาติอินโดนีเซีย นามเรียกขาน YEB6651 เดินทางออกจากท่าเรือภูเก็ต ประเทศไทย ปลายทางท่าเรือ Sabang ประเทศอินโดนีเซีย ได้ขาดการติดต่อและมาไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามเวลาที่กำหนด ในวันที่ 29 พ.ย. 2566 เวลา 15.00 น. (UTC) โดยตำแหน่งของตำบลที่สุดท้าย (Last Known Position : LKP) ในวันที่ 
29 พ.ย. 2566 เวลา 07.20 น. (UTC) คือ ละติจูด 06 องศา 53.02 ฟิลิปดา เหนือ ลองจิจูด 96 องศา 45.15 ฟิลิปดา ตะวันออก ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone : EEZ) 
ของประเทศไทย แต่อยู่ในเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue Region : SRR) ของประเทศมาเลเซีย 

โดย BKKRCC ได้แต่งตั้งผู้ประสานภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย (Search and Rescue Mission Coordinator : SMC) เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ กำหนดเขตการค้นหา กำหนดหน่วยค้นหาและช่วยเหลือและยานพาหนะที่จะเข้าไปทำการค้นหาและช่วยเหลือเรือลำดังกล่าว พร้อมทั้งมอบภารกิจให้กับเจ้าหน้าที่ RCC ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สื่อสาร เจ้าหน้าที่ประสานงาน เจ้าหน้าที่เขียนแผนที่ และเจ้าหน้าที่จดบันทึกข่าว โดยได้ประสานการปฏิบัติ และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันระหว่าง RCC ทั้งสามประเทศ ซึ่งผลการฝึกซ้อมฯ เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ และสามารถประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพหากมีเหตุเกิดขึ้นจริง โดยการฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ มีความยาก
และซับซ้อนในเรื่องของเขต EEZ เขต SRR และเขตอธิปไตยของแต่ละประเทศ ซึ่งต้องมีขั้นตอน
ของการประสานงานในเรื่องของการขออนุญาตทางการทูตในการปฏิบัติภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือข้ามเขตแดน (Diplomatic Clearance) โดยประเทศไทยจะต้องทำการศึกษาและนำมาเป็นแนวทาง
ในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป การฝึกซ้อมฯ ดังกล่าวเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางด้านการติดต่อสื่อสารด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลระหว่างประเทศ
รวมทั้งเป็นการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิด
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการประสานการปฏิบัติทั้งสามประเทศ ซึ่งหากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะสามารถปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการทบทวนแผนการฝึกซ้อมฯ ตามแนวทางและขั้นตอนที่กำหนดในคู่มือ International Aeronautical and Maritime Search And Rescue Manual (IAMSAR Manual) ด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ สกชย. จะนำการฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ ไปบูรณาการร่วมกันเพื่อปรับใช้เป็นแนวทางในการฝึกซ้อมภายในประเทศ และระหว่างประเทศในอนาคตต่อไป