นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ (กชย.) ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนหน่วยงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทยร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเป็นที่ปรึกษา กชย. เข้าร่วมการประชุม ในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมบุญเลื่อน กรมเจ้าท่า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 64/21 กำหนดให้มี กชย. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทาง มาตรการ และเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย เห็นชอบร่างแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ โดยคำนึงถึงมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติของ ICAO กำหนดมาตรการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศยานที่อยู่ในภาวะอันตราย รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ทั้งกระบวนการและวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้จัดการประชุม กชย. ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ตามหน้าที่และอำนาจของ กชย. ดังนี้
1.รับทราบรายงานภาพรวมภารกิจด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยประจำปี พ.ศ. 2565 ดังนี้
1.1การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO และตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) จัดทำแผน การดำเนินงานเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านการค้นหาและช่วยเหลือฯ และเตรียมความพร้อม รับการตรวจสอบจาก ICAO ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาตรวจสอบประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อไป
1.2การประชุมระหว่างประเทศด้านการค้นหาและช่วยเหลือ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของ ICAO และองค์กรการค้นหาและช่วยเหลือด้วยการใช้ดาวเทียมระหว่างประเทศ (International Satellite System for Search and Rescue หรือองค์การ COSPAS-SARSAT) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงคมนาคม โดย สกชย. ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศในด้านการค้นหา และช่วยเหลือฯ ด้วยระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 8 ครั้ง โดย สกชย. ได้นำผลสรุปที่ได้จากการประชุมระหว่างประเทศข้างต้น มาพัฒนาปรับปรุงระบบการค้นหาและช่วยเหลือฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติของ ICAO และองค์กร COSPAS-SARSAT และสร้างความเชื่อมั่น สำหรับเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป
1.3สรุปการรับแจ้งอากาศยานประสบเหตุ ซึ่ง สกชย. ในฐานะศูนย์ประสานงานการค้นหา และช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานฯ ตลอด 24 ชั่วโมง และได้สรุปจำนวนการรับแจ้งอากาศยานประสบเหตุปี 2562 จำนวน 112 ครั้ง ปี 2563 จำนวน 33 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 28 ครั้ง และปี 2565 จำนวน 83 ครั้ง ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ช่วงระหว่างปี 2563 จนถึงกลางปี 2564 ได้มีการปิดประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมการบิน มีการชะลอตัวและหยุดบิน ส่งผลให้จำนวนการแจ้งอากาศยานประสบเหตุลดลงตามไปด้วย และเมื่อสถานการณ์โรค COVID-19 เริ่มคลี่คลายและเริ่มมีการเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564 ส่งผลให้มีเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้จำนวนการรับแจ้งเหตุสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบภาพรวมระหว่างปี 2565 กับปี 2562 (ก่อน COVID-19) พบว่าจำนวนการแจ้งเหตุลดลงถึงประมาณร้อยละ 26 ทั้งนี้ สกชย. ได้ประเมินระดับของปฏิบัติการ และดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และประสานแจ้งสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน เพื่อดำเนินการหาสาเหตุและวิธีป้องกันต่อไป
2.รับทราบรายงานผลการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2565 (SAREX 2022) ครั้งที่ 42 โดยมีกองทัพเรือ เป็นแกนกลาง กระทรวงคมนาคม โดย สกชย. เป็นฝ่ายเลขานุการ สถาบันการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานประเมินผลการฝึกซ้อมฯ และจัดทำรายงานสรุปผลการประเมินผล ตลอดจนข้อเสนอแนะ ซึ่งมีผลการประเมินในภาพรวมในเกณฑ์ดี โดยได้รับคะแนนเฉลี่ย 4.27 (เต็ม 5.00) หรือร้อยละ 91.10 แสดงให้เห็นถึงภาพรวมความสำเร็จของการฝึกซ้อมฯ ในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบการค้นหาและช่วยเหลือฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะนำข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับใช้ เพื่อพัฒนางานด้านการค้นหาและช่วยเหลือฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่ ICAO และ กพท. กำหนด และนำมาปรับใช้ในการฝึกซ้อม SAREX 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้ครอบคลุมและดียิ่งขึ้นต่อไป
3.รับทราบการลงนามความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเล (ASEAN Agreement on Aeronautical and Maritime Search and Rescue Cooperation) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก โดยรัฐบาลไทยได้มีการลงนามในร่างความตกลงฯ ดังกล่าว ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Minister Meeting : ATM) ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 16 – 17 ตุลาคม 2565 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งความตกลงฯ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขข้อบกพร่อง (Finding) ที่ได้รับจาก ICAO เมื่อปี พ.ศ. 2558 รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานตามที่ ICAO กำหนด ทั้งนี้ ร่างความตกลงฯ ดังกล่าว ขณะนี้ ได้มีการเวียนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามความตกลงฯ ครบทุกประเทศแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบัน เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะส่งมอบสัตยาบันสารให้แก่เลขาธิการอาเซียน ก่อนความตกลงฯ จึงจะมีผลบังคับใช้ต่อไป
4.เห็นชอบในหลักการร่างเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย (Bangkok Search and Rescue Region : Bangkok SRR) ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย ที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ผู้แทนหน่วยงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทยร่วมเป็นอนุกรรมการ เสนอ และให้ฝ่ายเลขานุการ สกชย. ดำเนินการจัดทำข้อตกลงกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือฯ ติดกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือให้ครอบคลุมเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย ก่อนนำเสนอ กชย. พิจารณา ในโอกาสต่อไป
5.อนุมัติจัดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยประจำปี 2566 (ครั้งที่ 43) โดยมอบหมายให้ กองทัพบก เป็นแกนกลางในการฝึกซ้อมฯ และมอบหมายให้ สถาบันการบินพลเรือน เป็นหน่วยงานประเมินผลฯ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนการฝึกซ้อมฯ ให้ประสบความสำเร็จ เป็นไปตาม พ.ร.บ. การเดินอากาศ มาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติของ ICAO และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดหน่วยค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจาก กฎ ระเบียบ เอกสารมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติ แผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง และกำหนดหน่วยงานหลัก สิ่งอำนวยความสะดวกและที่ตั้งของหน่วยค้นหา และช่วยเหลือ (Search and Rescue Unit : SRU) ให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO และ กพท. โดยคำนึงถึงคุณสมบัติ และขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือฯ ภายในเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือฯ ก่อนเสนอร่างหน่วยค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย ในระดับปฏิบัติการให้ กชย.
ที่มา : https://motapplication.mot.go.th/mot/20-news-web/NewsDetail.html?ROW_ID=314918&ROW_ID_NEWS_M_GROUP=3