นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนาม บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเหตุการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานการค้นหา และช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศ ด้านความปลอดภัยของการบินพลเรือนระหว่าง กสอ. สกชย. และ กพท.
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนาม
บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเหตุการสอบสวนอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ของอากาศยาน การค้นหา และช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศ ด้านความปลอดภัยของการบินพลเรือนระหว่างคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (กสอ.) สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยมี พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประธาน กสอ. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมขนส่ง
ทางบก รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. นายธงชัย พงษ์วิชัย
ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำ และนางสาวมติมา อริยะชัยพาณิชย์ ผู้แทนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เข้าร่วมพิธีฯ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566
ณ หอประชุมราชรถสโมสร อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม
นายชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ICAO
และในฐานะรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย
ด้านการบินพลเรือนสู่มาตรฐานสากลและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่ง กสอ. และ กพท. ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในอากาศยานตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ในการแก้ไขข้อบกพร่อง (Finding) จากข้อคำถาม (Protocol Question : PQ) ของ ICAO และต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 จึงได้ปรับปรุงบันทึกความเข้าใจฯ (ฉบับเดิม) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องการบินพลเรือนของประเทศไทยที่ได้รับการตรวจสอบจาก ICAO ด้าน Accident Investigation Section (AIG) เกี่ยวกับการจัดให้มีระบบการรายงานเหตุ อุบัติเหตุ อุบัติการณ์ และแนวทางการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และครอบคลุมการดำเนินการในส่วนของ สกชย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและผู้ประสบภัยในกรณีที่เกิดอากาศยานสูญหายหรือขาดการติดต่อ โดยวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ (ฉบับใหม่) คือ เพื่อสร้างความร่วมมือในการประสานงานร่วมกัน ผ่านการยอมรับในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน การสื่อสารอย่างเปิดเผยชัดเจน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด โดยแบ่งขอบเขตความร่วมมือออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้
1. การแจ้งเหตุเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์รุนแรง หรือเมื่ออากาศยานอยู่ในภาวะอันตรายสูญหาย หรือขาดการติดต่อ
2. การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติการณ์รุนแรง หรืออุบัติการณ์
3. การค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความปลอดภัยและสารสนเทศด้านความปลอดภัยในการบินพลเรือน
5. การพัฒนาบุคลากร
บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เป็นการบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่าง กสอ. สกชย. และ กพท. ในการจัดการความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทยในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์รุนแรง และลดโอกาสการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้ใช้บริการ รวมถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติของ ICAO ต่อไป