การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) รวมทั้งกรอบกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดในการสัมมนา ได้แก่

๑. การบรรยายในหัวข้อ “โครงสร้างและภารกิจของศูนย์ประสานงานการค้นหา
และช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (RCC)”
เจ้าหน้าที่ สกชย. ได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับศูนย์ประสานงานฯ รวมทั้งรับฟังการบรรยายอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

๑.๑ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยขน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)

๑.๒ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

๑.๓ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

๑.๔ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

. การร่างแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (SAR) ของ ศรชล. โดย สกชย. ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานฯและขีดความสามารถในปัจจุบัน พร้อมทั้งร่วมรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างแผนเผชิญเหตุฯ ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อคิดเห็นและแนวทางการปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในร่างแผนฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

๓. เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table-Top Exercise : TTX) โดยเป็นการฝึกซ้อมตามแผนค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการกำหนดสถานการณ์สมมุติ จำนวน 3 เหตุการณ์ ได้แก่

๓.๑ เหตุการณ์ลูกเรือประมงพลัดตกน้ำขณะทำการประมงบริเวณระหว่างเกาะครามใหญ่กับเกาะลิง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๑ (ศรชล. ภาค ๑) โดยได้มีการซักซ้อมการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการจนสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างปลอดภัย

๓.๒ เหตุการณ์เรือบรรทุกคนโดยสารประสบเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องและเรือกำลังจะจมบริเวณเส้นทางระหว่างท่าเรือสุราษฎร์ธานีไปยังปลายทางที่ท่าเรือท้องศาลา อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๒ (ศรชล. ภาค ๒) โดยกำหนดให้สถานการณ์มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีผู้ประสบภัยจำนวนมาก จึงต้องมีการประสานงานไปยังหน่วยงานในพื้นที่เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัด หน่วยส่งต่อทางการแพทย์ มูลนิธิในพื้นที่ เป็นต้นและได้ดำเนินการฝึกซ้อมไปจนสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้

๓.๓ เหตุการณ์เรือบรรทุกโดยสารขนาดใหญ่ ชื่อเรือ Genting Dream ประสบเหตุชนหินโสโครกและกำลังจะจมบริเวณทางตอนใต้ของท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๓ (ศรชล. ภาค ๓) โดยเหตุการณ์มีผู้ประสบภัยจำนวนมากและต้องการการสนับสนุนจากหน่วยค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue Unit : SRU)ทางทะเลเพิ่มเติม จึงได้มีการฝึกซ้อมการประสานงานกับหน่วยงานในประเทศใกล้เคียง คือประเทศมาเลเซียและได้ฝึกซ้อมไปจนสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้