เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๘ ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย โดยนางสาวณัฏฐ์กฤตา ศรีทวีพันธ์ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายประสานการปฏิบัติการค้นหาช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย สกชย. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สกชย. ได้ให้การต้อนรับผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๒ และ ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า ในโอกาสเข้าร่วมหารือ เรื่อง การปฏิบัติงานของศูนย์ข้อมูลเรือของประเทศไทย ด้วยระบบการติดตามเรือระยะไกล (Long Range Identification Tracking – LRIT)
วัตถุประสงค์ของการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการนำระบบการติดตามเรือระยะไกลมาสนับสนุนการปฏิบัติงานการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัยของศูนย์ประสานงานฯ โดยความสำคัญของระบบการติดตามเรือระยะไกลสามารถระบุข้อมูลที่จำเป็นของเรือที่ประสบภัยสำหรับการค้นหาและช่วยเหลือ อาทิ เช่น ชื่อเรือ หมายเลข IMO Call Signs MMSI Ship-borne equipment Identification Number (IMN) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เจ้าของเรือจะต้องส่งข้อมูลให้กับศูนย์กลางของระบบ ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวฯ ได้ถูกบังคับใช้ตามข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียม การออกใบสำคัญรับรองสำหรับระบบจำแนกและติดตามเรือระยะไกล พ.ศ. ๒๕๖๖ กับเรือประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางระหว่างประเทศ ดังนี้
๑. เรือโดยสาร รวมถึงเรือโดยสารที่เป็นยานความเร็วสูง
๒. เรือสินค้า รวมถึงยานความเร็วสูง ขนาดตั้งแต่ ๓๐๐ ตันกรอสขึ้นไป
๓. แท่นขุดเจาะเคลื่อนที่
โดยข้อบังคับนี้ไม่ใช้บังคับกับเรือที่ได้ติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลเรืออัตโนมัติ (Autonomic Identification System : AIS) และทำการเฉพาะในเขตทะเล A1 ไม่ว่าเรือนั้นจะต่อขึ้นเมื่อใดก็ตาม
ทั้งนี้ ผลจากการหารือ ศปก. เจ้าท่า ยินดีที่จะนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรือที่ประสบภัยในระบบดังกล่าวฯ
โดยขอให้ สกชย. ประสานเพื่อขอรับข้อมูลจากระบบ AIS เป็นช่องทางหลัก และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถประสานขอข้อมูลจากระบบ LRIT เป็นระบบสนับสนุนได้ โดยประสานขอข้อมูลผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นไลน์ไปยัง ศปก. เจ้าท่า กลุ่มประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย MRCC Thailand ต่อไป