ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Bangkok Rescue Co-ordination Centre : BKKRCC) โดยสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) ดำเนินการฝึกซ้อมการติดต่อสื่อสารการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย (Maritime Search And Rescue Communication Exercise : SARCOMEX) ระหว่าง ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย Ankaraประเทศตุรกี (Maritime Search and Rescue Coordination Centre Ankara : MRCC Ankara) กับ BKKRCC ในวันที่ 24 พ.ย. 2566 เวลา 13.30 – 16.30 น. ซึ่งการฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่ BKKRCC ได้ฝึกร่วมกับ MRCC Ankara สืบเนื่องจากการประชุม Head Asian Coast Guard Agencies Meeting (HACGAM) ระหว่างวันที่ 5 – 8 ก.ย. 2566 ได้มีมติให้มีการจัดการฝึกซ้อมฯ ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการประสานความร่วมมือ
ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างมีรูปแบบ ขั้นตอน และเป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการปฏิบัติระหว่างกันเกิดประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านการประสานการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO)  โดยสถานการณ์การฝึกซ้อมฯ จำลองสถานการณ์การค้นหาและช่วยเหลือทางทะเลจำนวน 2 สถานการณ์ คือ

            1. สถานการณ์จำลองแรก ในวันที่ 24 พ.ย. 2566 เวลา 07.00 น. (UTC) หรือเวลา 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้มีเรือสินค้า สัญชาติตุรกี ชื่อเรือBLUE นามเรียกขาน TC1008 เดินทางออกจากท่าเรือ Izmir ประเทศตุรกี ปลายทางท่าเรือกรุงเทพ เกิดเหตุมีลูกเรือ 1 คน เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) ต้องทำการส่งต่อสายการแพทย์โดยด่วน (MEDEVAC) ขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ที่พิกัด 12 องศา 02.50ฟิลิปดา เหนือ 100 องศา 49.44 ฟิลิปดา ตะวันออก ห่างจากท่าเรือจุกเสม็ดประมาณ 35ไมล์ทะเล อยู่ในเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศไทย กัปตันเรือ BLUE จึงประสานขอความช่วยเหลือ
แก่ลูกเรือมายัง BKKRCC ซึ่ง BKKRCC ได้ดำเนินการประสานไปยังศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล. ภาค 1) เพื่อนำเรือตรวจการณ์ออกเดินทางไปยังเรือลำดังกล่าวและช่วยทำการส่งต่อ
สายการแพทย์แก่ลูกเรือ ในขณะเดียวกัน BKKRCC ก็ได้ประสานไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อทำการเตรียมพร้อมรับตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด 
และสามารถทำการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว  

          2. สถานการณ์จำลองที่ 2 วันที่ 24 พ.ย. 2566 เวลา 08.00 น. (UTC) หรือเวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย มีเรือสินค้า สัญชาติไทย ชื่อเรือ YELLOW นามเรียกขาน HSB5247 ออกจากท่าเรือกรุงเทพ ปลายทางท่าเรือ Izmir ประเทศตุรกี ขณะเรือกำลังแล่นที่พิกัด 36 องศา 06.36 ฟิลิปดา เหนือ 28 องศา 56.28 ฟิลิปดา ตะวันออก กัปตันสังเกตเห็นที่บริเวณด้านซ้ายของหัวเรือพบว่ามีเรือลักษณะคล้ายเรือประมงขนาด10 ตันกรอส มีคนอยู่บนเรือลำดังกล่าวจำนวนมากกว่า 100 คน (Overcrowded) และเรือลอยลำอยู่ในสภาพอากาศ
ที่เลวร้าย ซึ่งอาจทำให้คนตกเรือและเสียชีวิตได้ โดยบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ MRCC Ankara ประเทศตุรกี โดยกัปตันเรือได้ติดต่อไปยัง BKKRCC ว่าต้องการความช่วยเหลือให้อพยพคนบนเรือลำดังกล่าวไปยังที่ปลอดภัยโดยด่วน จากนั้น BKKRCC ทำการประสานไปยัง MRCC Ankara ซึ่ง MRCC Ankara ได้ดำเนินการประสานงานไปยังTürkiye Coast Guard เพื่อขอให้เรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ ออกจากท่าเรือ Fethiye/Mugla และเฮลิคอปเตอร์ Türkiye Coast Guard ออกไปรับคนจากเรือลำดังกล่าวเพื่อนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานที่ปลอดภัยต่อไป

                        โดย BKKRCC ได้ประสานการปฏิบัติกับ MRCC Ankara อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมอบภารกิจให้กับเจ้าหน้าที่ สกชย. เข้าร่วมการฝึกซ้อมฯ ประกอบด้วยผู้ประสานภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย เจ้าหน้าที่สื่อสาร เจ้าหน้าที่ประสานงาน เจ้าหน้าที่เขียนแผนที่ และเจ้าหน้าที่จดบันทึกข่าว ซึ่งผลการฝึกซ้อมฯ เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ และสามารถประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพหากมีเหตุเกิดขึ้นจริง