ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Bangkok Rescue Co-ordination Centre : BKKRCC) โดยสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) ดำเนินการฝึกซ้อมการติดต่อสื่อสารการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย (Maritime Search And Rescue Communication Exercise : SARCOMEX) ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย Vung Tau ประเทศเวียดนาม (Vung Tau Maritime Search and Rescue Coordination Center : Vung Tau MRCC) ในวันที่ 10 เม.ย. 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างมีรูปแบบ ขั้นตอน และเป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการปฏิบัติระหว่างกันเกิดประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านการประสานการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) โดยมีสถานการณ์การฝึกซ้อมฯ จำลองการค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล 2 สถานการณ์ คือ
สถานการณ์ที่ 1 (Scenario 1)
เหตุการณ์สละเรือ (Abandon Ship) เรือสินค้า ชื่อ VANDON ACE สัญชาติเวียดนาม ออกเดินทางจากท่าเรือ Ho Chi Minh ประเทศเวียดนาม มุ่งหน้าไปยังเกาะสีชัง ประเทศไทย โดยขณะเรือแล่นอยู่ได้ไปชนกับวัตถุบางอย่างทางด้านซ้ายของตัวเรือ ทำให้เรือแตก น้ำเข้ามาในเรือจำนวนมากและเรือกำลังจะจม ที่พิกัด 12 องศา 30 ลิปดาเหนือ 100 องศา 39 ลิปดาตะวันออก บริเวณอ่าวไทย อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศไทย กัปตันเรือ นาย Nguyen Van Do ตัดสินใจทำการสละเรือ และขอความช่วยเหลือมายัง BKKRCC โดยเรือมีลูกเรือสัญชาติเวียดนามจำนวน 15 คน และมีแพชูชีพ 2 ลำ
BKKRCC ได้ทำการประสานไปยัง Bangkok Radio เพื่อให้ออกประกาศชาวเรือระวังเรือ VANDON ACE และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นหากพบเจอ และประสานไปยังหน่วยค้นหาและช่วยเหลือที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ ฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งทราบว่ามีเรือหลวงสัตหีบจอดทิ้งสมอไว้บริเวณใกล้เกาะยอ ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้เรือดังกล่าวที่สุด โดยเรือหลวงสัตหีบวิ่งได้ที่ความเร็วสูงสุด 22 knots คาดว่าจะใช้เวลาไปถึงเรือที่เกิดเหตุประมาณ 45 นาที และขอให้เรือหลวงสัตหีบนำลูกเรือทั้งหมดอพยพมาบนเรือเพื่อนำไปยังท่าเรือจุกเสม็ด ทาง BKKRCC ได้ประสานให้หน่วยแพทย์จากโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ มารอรับ รวมทั้งประสานบริษัท Operator ของเรือเพื่อให้การดูแลลูกเรือทั้งหมดต่อไป

สถานการณ์ที่ 2 (Scenario 2)
เหตุการณ์เรือโดยสาร ชื่อ SONGKRAN 13 สัญชาติไทย เดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ มุ่งหน้าไปยังท่าเรือ Vung Tau ประเทศเวียดนาม ขณะอยู่ที่พิกัด 10 องศา 25 ลิปดาเหนือ 107 องศา 05 ลิปดาตะวันออก อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศเวียดนาม ทางกัปตันเรือได้รับแจ้งเหตุว่ามีผู้โดยสารหายไปจากเรือ ซึ่งคาดว่าน่าจะตกเรือ (Man Overboard) หลังจากได้ทราบเหตุการณ์ กัปตันรีบติดต่อไปยัง Vung Tau MRCC เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินพร้อมขอให้ช่วยทำการค้นหาและช่วยเหลือผู้โดยสารที่ตกเรือดังกล่าว
เมื่อ Vung Tau MRCC รับทราบเหตุการณ์แล้ว ได้ทำการประสานกับ Hochiminh Radio, Vung Tau Administration และ Vung Tau VTS เพี่อให้ทำการออกประกาศแจ้งเรือในพื้นที่ใกล้เคียงและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งได้ส่งเรือ SAR 413 พร้อมลูกเรือจำนวน 18 คน และเรือ SAR 272 พร้อมลูกเรือจำนวน 15 คน เพื่อออกทำการค้นหาและช่วยเหลือผู้โดยสารที่ตกน้ำ โดยทาง Vung Tau MRCC ได้ประสานงานกับ BKKRCC อย่างต่อเนื่องจนสามารถพบผู้โดยสารที่ตกน้ำ และได้นำส่งโรงพยาบาล Vung Tau ต่อไป
โดยระหว่างการฝึกซ้อมสถานการณ์จำลองทั้ง 2 เหตุการณ์ BKKRCC ได้ประสานการปฏิบัติกับ Vung Tau MRCC อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมอบภารกิจให้กับเจ้าหน้าที่ สกชย. เข้าร่วมการฝึกซ้อมฯ ประกอบด้วยผู้ประสานภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย เจ้าหน้าที่สื่อสาร เจ้าหน้าที่ประสานงาน เจ้าหน้าที่เขียนแผนที่ และเจ้าหน้าที่จดบันทึกข่าว ซึ่งผลการฝึกซ้อมฯ เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ และสามารถประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพหากมีเหตุเกิดขึ้นจริง