ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของ IMO มีภาระผูกพันเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยชีวิตทางอากาศและทางทะเล (Aeronautical and Maritime Search and Rescue) โดยจะต้องจัดให้มีการบริการเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ สถานะ หรือสถานการณ์ที่พบผู้ประสบภัย
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2521 ให้จัดตั้งองค์กรเพื่อการค้นหาและช่วยแห่งชาติขึ้น มีศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย สกชย. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางการอำนวยการและประสานงานการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่เว้นวันหยุดราชการ รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรด้านการค้นหาและช่วยเหลือและจัดให้มีการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเพื่อให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก
ในการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมตามโครงการฝึกอบรมทางวิชาการ
การฝึกซ้อมร่วมกับเรือโดยสาร (Passengers Ship Training) กรณีเรือประสบภัย ประจำปี พ.ศ. 2566
โดยมีนายธงชัย พงษ์วิชัย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำ กระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฯ
เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานในระบบค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัยของประเทศ ได้รับการฝึกอบรม ฝึกฝน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ตามมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) โดยมีหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัยและเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมการฝึกอบรมฯ เมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ณ ห้องภาณุรังษี บอลล์รูม โรงแรมรอยัล
ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) ในฐานะศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลือฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการอำนวยการ สนับสนุนงานวิชาการ และประสานงานการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย (Maritime Rescue Co-ordination Centre หรือ MRCC) ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในโครงการฝึกอบรมทางวิชาการการฝึกซ้อมร่วมกับเรือโดยสาร(Passengers Ship Training) กรณีเรือประสบภัย ประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้ความรู้กับหน่วยงานในระบบค้นหาและช่วยเหลือฯ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามพันธกรณีในฐานะรัฐเจ้าของชายฝั่ง (Coastal State Obligations) ซึ่งกำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ SOLAS รวมถึงบูรณาการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน IMO

ในการนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ
จากหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเป็นวิทยากร ได้แก่ กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางน้ำ และสำนักงานคณะกรรมการค้นหา
และช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย และเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือและขีดความสามารถในการให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือฯ ตามมาตรฐาน IMO