กระทรวงคมนาคมร่วมจัดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2566 (Search and Rescue Exercise 2023 : SAREX 2023) พัฒนาขีดความสามารถในการค้นหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายมนตรี เดชาสกุลสม และนางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ร่วมชมการแสดงสาธิตการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และพิธีปิดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2566 (Search and Rescue Exercise 2023 : SAREX 2023) โดยมี พลโท กันตพจน์ เศรษฐารัศมี รองเสนาธิการทหารบก เป็นประธานในพิธีฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีฯ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา
กระทรวงคมนาคมมีพันธกิจในการบริหารนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ
ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการการขนส่งให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะการบินระหว่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดและรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพ และความเข้าใจต่อกันในระหว่างชาติและพลเมืองโลก ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีต้องจัดให้มีการช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยภายในเขตความรับผิดชอบของรัฐ คณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ (กชย.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ จึงได้จัดทำแผนค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภายในประเทศ และข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศ สำหรับเป็นแนวทางหลักหรือระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการสนับสนุนมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางโดยอากาศยาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งกระบวนการวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐาน และการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ ด้วยการจำลองสถานการณ์สมมติ เพื่อให้สามารถประเมินเหตุการณ์และวางแผนการให้ความช่วยเหลือได้อย่างรอบคอบ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดให้มีการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 43 สำหรับการฝึกซ้อม SAREX 2023 กชย. ได้มีมติมอบให้กองทัพบกเป็นแกนกลางในการจัดฝึกซ้อมฯ และสถาบันการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานประเมินผล โดยแบ่งการฝึกซ้อมออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1. การฝึกซ้อมภาคทฤษฎี เมื่อวันที่ 8, 9 และ 11 พฤษภาคม 2566 เป็นการฝึกซ้อม ณ ที่ตั้งหน่วย ดำเนินการโดย สกชย. แบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การฝึกซ้อมการประสานงาน (Coordination Exercise) เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การฝึกซ้อมภาคปฏิบัติ การทดสอบการติดต่อสื่อสาร (Communication Exercise) เพื่อทดสอบการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และการทดสอบการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Locator Transmitter : ELT) เพื่อตรวจสอบความแม่นยำในการตรวจสอบสัญญาณขอความช่วยเหลือด้วยระบบ COSPAS-SARSAT
2. การฝึกซ้อมภาคปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 12 – 16 มิถุนายน 2566 ณ ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย
– การอบรมทางวิชาการ เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอบรม ณ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จำนวน 200 คน และเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 360 คน
– การฝึกแลกเปลี่ยน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การคัดแยกผู้บาดเจ็บจากอากาศยานอุบัติเหตุ การลำเลียงผู้บาดเจ็บทางอากาศ และการฝึกลงทางดิ่ง
– การฝึกซ้อมแก้ปัญหาบนโต๊ะแผนที่ (Tabletop Exercise : TTX) เป็นการฝึกซ้อมของกองอำนวยการค้นหาและช่วยเหลือในการบัญชาการเหตุการณ์ เพื่อประสานและสั่งการหน่วยค้นหาและช่วยเหลือที่ออกปฏิบัติการในพื้นที่เกิดเหตุ
– การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) เป็นการฝึกซ้อมตามสถานการณ์สมมติ คือ อากาศยานแบบ Boeing 737-400 ประสบเหตุบริเวณเขายายเที่ยง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดตั้งกองอำนวยการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ณ ค่ายสุรนารี และกองอำนวยการส่วนหน้า ณ กองพันสุนัขทหาร ดำเนินการฝึกซ้อมการประสานงาน การบัญชาการเหตุการณ์ หน่วยค้นหารายงานผลต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์เป็นระยะ และการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมฝึกซ้อมทั้งสิ้น 400 คน
– การแสดงสาธิตและพิธีปิดการฝึกซ้อม เป็นการแสดงการสาธิตการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ณ ลานเอนกประสงค์ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์และบริภัณฑ์ของหน่วยค้นหาและช่วยเหลือ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมชมการสาธิตทั้งสิ้น 460 คน การฝึกซ้อม SAREX 2023 เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลือให้ได้มีการทบทวนและบูรณาการการฝึกซ้อมระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งในการฝึกซ้อมครั้งนี้ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการค้นหาและช่วยเหลือ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงบทบาทภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึกซ้อม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมตระหนักถึงความสำคัญ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย