คณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย หรือ กชย. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนผู้บัญชาการ เหล่าทัพ (กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และ ผู้แทนปลัดกระทรวง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข)
เป็นกรรมการ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติมอบหมายให้ กองทัพบกทำหน้าที่เป็นแกนกลางการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นครั้งที่ 43 สถาบันการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานประเมินผล และสำนักงานคณะกรรมการค้นหา
และช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยได้ดำเนินการฝึกซ้อม ตั้งแต่วันที่
8 พฤษภาคม ถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบการปฏิบัติตามแผนการค้นหา
และช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติงาน
ด้วยความสอดคล้อง ตามแผนดังกล่าว

การฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานในระบบการค้นหา
และช่วยเหลือ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยแบ่งการฝึกซ้อมออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. การฝึกซ้อมภาคทฤษฎี เมื่อวันที่ 8, 9 และ 11 พฤษภาคม 2566 ณ ที่ตั้งหน่วย

เป็นการฝึกซ้อม ณ ที่ตั้งหน่วย ดำเนินการโดย สกชย. แบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่

1.1  การฝึกซ้อมการประสานงาน (Coordination Exercise) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ตรวจสอบเครื่องมือสื่อสาร และแบบฟอร์มการดำเนินการตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการฝึกการประสานงาน เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การฝึกซ้อมภาคปฏิบัติ ได้แก่ การแก้ปัญหาบนโต๊ะแผนที่ (Table Top Exercise : TTX) และการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX)

ภาพการฝึกซ้อมการประสานงาน (Coordination Exercise) วันที่ 8 และ 9 พฤษภาคม 2566

1.2 การทดสอบการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Locator Transmitter : ELT) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบความแม่นยำในการตรวจสอบสัญญาณขอความช่วยเหลือด้วยระบบ COSPAS-SARSAT โดยเป็นการทดสอบการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Locator Transmitter : ELT) ที่ใช้ติดตั้งบนอากาศยานของกองทัพบก โดย ศูนย์การบินทหารบก โดยมีผลการทดสอบสามารถรับสัญญาณทดสอบได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที และระยะทางประมาณ 1 – 2 ไมล์ จากจุดที่กดสัญญาณ ELT ซึ่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร ตามมาตรฐานขององค์กร COSPAS-SARSAT

ภาพการทดสอบการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Locator Transmitter : ELT) วันที่ 11 พฤษภาคม 2566

1.3 การทดสอบการติดต่อสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือด้วยระบบดาวเทียมของประเทศไทย (Thailand Mission Control Centre: THMCC) กับศูนย์ควบคุมภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือด้วยระบบดาวเทียมต่างประเทศ

ภาพการทดสอบการติดต่อสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือด้วยระบบดาวเทียมของประเทศไทย (Thailand Mission Control Centre: THMCC) วันที่ 11 พฤษภาคม 2566

2. การฝึกซ้อมภาคปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 12 – 16 มิถุนายน 2566 ณ ค่ายสุรนารี กองทัพ
ภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย

2.1 การอบรมทางวิชาการ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เป็นการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในของหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย โดยมี 6 หัวข้อ ได้แก่

1) การค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทย โดยวิทยากรจาก สกชย.

2) มาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย โดยวิทยากรจาก สบพ.

3) การสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานในประเทศไทย โดยวิทยากรจาก สสอ.

4) การปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อมีเหตุอากาศยานประสบภัย โดยวิทยากรจาก สพฉ.

5) การบริหารจัดการสาธารณภัยเมื่อมีเหตุอากาศยานประสบภัย โดยวิทยากรจาก ปภ.

6) การปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย โดยวิทยากรจาก ทอ.

โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จำนวน 200 คน และเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Application) จำนวน 360 คน โดยหน่วยงานได้มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยเพื่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภาพการการอบรมทางวิชาการ วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ สโมสรร่วมเริงชัย ค่ายสุรนารี
กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา

2.2 การฝึกแลกเปลี่ยน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นการฝึกซ้อมของหน่วยค้นหาและช่วยเหลือ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติการจริง ฝึกซ้อมให้ความรู้ความเข้าใจ ให้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริง โดยมีหัวข้อ ได้แก่ 1) การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ 2) การคัดแยกผู้บาดเจ็บจากอากาศยานอุบัติเหตุ และหลักการลำเลียงผู้บาดเจ็บทางอากาศ 3) การฝึกลงทางดิ่ง

ภาพการฝึกแลกเปลี่ยน วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ณ สนามบินกองทัพบกสุรนารี
กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา

2.3 การฝึกซ้อมแก้ปัญหาบนโต๊ะแผนที่ (Tabletop Exercise : TTX) เป็นการฝึกซ้อมของกองอำนวยการค้นหาและช่วยเหลือในการบัญชาการเหตุการณ์ เพื่อประสานและสั่งการหน่วยค้นหาและช่วยเหลือที่ออกปฏิบัติการในพื้นที่เกิดเหตุ

ภาพการฝึกฝึกซ้อมแก้ปัญหาบนโต๊ะแผนที่ (Tabletop Exercise : TTX) วันที่ 14 มิถุนายน 2566
ณ สโมสรร่วมเริงชัย ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา

2.4 การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) เป็นการฝึกซ้อมตามสถานการณ์สมมติ  คือ อากาศยานแบบ Boeing 737-400 ประสบเหตุบริเวณเขายายเที่ยง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
มีการจัดตั้งกองอำนวยการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ณ ค่ายสุรนารี และกองอำนวยการส่วนหน้า ณ กองพันสุนัขทหาร ดำเนินการฝึกซ้อมการประสานงาน การบัญชาการเหตุการณ์ หน่วยค้นหารายงานผลต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์เป็นระยะ และการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมฝึกซ้อมทั้งสิ้น 400 คน

ภาพการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) วันที่ 15 มิถุนายน 2566
ณ สโมสรร่วมเริงชัย ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา

2.5 การแสดงสาธิตและพิธีปิดการฝึกซ้อม เป็นการแสดงการสาธิตการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ณ ลานเอนกประสงค์ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์และบริภัณฑ์ของหน่วยค้นหาและช่วยเหลือ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมชมการสาธิตทั้งสิ้น 460 คน
การฝึกซ้อม SAREX 2023 เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลือให้ได้มีการทบทวนและบูรณาการการฝึกซ้อมระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งในการฝึกซ้อมครั้งนี้ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการค้นหา
และช่วยเหลือ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงบทบาทภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึกซ้อม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมตระหนักถึงความสำคัญ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย

การแสดงสาธิตและพิธีปิดการฝึกซ้อม วันที่ 16 มิถุนายน 2566
ณ ลานเอนกประสงค์ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา