สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยได้จัดการประชุมสำหรับทบทวนและหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับแผนความร่วมมือ ระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือและเรือโดยสาร (Plan for Cooperation between Search and Rescue Services and Passenger Ship) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 ณ จ.ภูเก็ต โดยมี นายธงชัย พงษ์วิชัย ปศน. เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยคณะผู้แทนจาก สกชย. โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้รับจากการตรวจประเมินประเทศสมาชิหองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) รวมทั้งเป็นการทบทวนแผนความร่วมมือฯ ให้มีประสิทธิภาพ ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการจัดทำแผนความร่วมมือฯ กับเรือโดยสารที่เดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นประจำ ตลอดจนนำไปใช้ในการฝึกซ้อมร่วมกับเรือโดยสารตามมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) โดยมีกิจกรรมฯ ดังต่อไปนี้

1) การประชุมสำหรับทบทวนแผนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือและเรือโดยสาร (Plan for Cooperation between Search and Rescue Services and Passenger Ship) ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต โดยมี ปศน. เป็นประธานการประชุมฯ โดยผู้แทนหน่วยต่าง ๆ มีการเสนอแนะข้อคิดเห็นเพื่อทบทวนแผนความร่วมมือฯ ให้มีความเหมาะสม สามารถนำแผนไปใช้ในการฝึกซ้อมและนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) การประชุมแผนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือและเรือโดยสาร (Plan for Cooperation between Search and Rescue Services and Passenger Ship) และผลการฝึกซ้อมการติดต่อสื่อสาร (Communication Exercise) ณ เรือโดยสาร Spectrum of the Seas จ.ภูเก็ต รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลังจากการฝึกซ้อมการติดต่อสื่อสารร่วมกัน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 โดยแผนความร่วมมือดังกล่าวถือว่าเป็นแผนความร่วมมือฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue Services) กับเรือโดยสาร Spectrum of the Seas และบริษัท ซึ่งเรือ Spectrum of the Seas เป็นหนึ่งในเรือที่ถูกตรวจพบอยู่ในรายงานข้อบกพร่อง (Finding) ที่ได้รับจากการตรวจประเมิน IMSAS โดย สกชย. จะต้องทำแผนความร่วมมือกับเรือโดยสารที่เข้าออกประเทศไทยเป็นประจำ และจะต้องมีการฝึกซ้อมกับเรือโดยสารที่ได้ร่วมทำแผนความร่วมมือดังกล่าว

นอกจากนี้ สกชย. ได้แนะนำช่องทางการเข้าถึงแผนความร่วมมือฯ ผ่านระบบฐานข้อมูลออนไลน์ (Web-based Application) ซึ่งจะมีการรวบรวมแผนความร่วมมือที่ได้จัดทำกับเรือโดยสารลงในฐานข้อมูลดังกล่าว โดยสามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ เรือโดยสาร ผ่านชื่อผู้ใช้งาน (user) และรหัสผ่าน (password) เพื่อเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้รับจากการตรวจประเมิน IMSAS

3) การประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนความร่วมมือฯ Plan for Cooperation และเยี่ยมชมงาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศปก.ศรชล. ภาค 3) และ ศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต โดยได้หารือแนวทางปฏิบัติร่วมกัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวทางแก้ไขข้อขัดข้อง ตลอดจนได้เรียนรู้ระบบเทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

4) หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมฯ จำนวน 9 หน่วย ประกอบด้วย

(1) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)
(2) ศรชล.ภาค 3
(3) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต
(4) ศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน)
(5) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
(6) สำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางน้ำ
(7) สกชย.
(8) การท่าเรือแห่งประเทศไทย
(9) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญไทย