การฝึกทดสอบการติดต่อสื่อสารการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย ระดับภูมิภาค
Regional Maritime Search and Rescue Communication Exercise : Regional SARCOMEX
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566

สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย สำนักงานปลัด
กระทรวงคมนาคม ดำเนินการฝึกทดสอบการติดต่อสื่อสารการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย ระดับภูมิภาค (Regional Maritime Search and Rescue Communication Exercise : Regional SARCOMEX) ระหว่างศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Bangkok Rescue Co-ordination Centre : BKKRCC) ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ประเทศอินเดีย (MRCC Chennai)
ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ประเทศบังกลาเทศ (MRCC Dhaka) และศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ประเทศเมียนมา (MRCC Yangon) เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ระหว่างเวลา 11.30 – 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมและสนองตอบต่อเหตุการณ์ทางทะเล โดยเป็นการแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นแนวทางปฏิบัติระหว่างกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เกิดประโยชน์โดยตรง
ต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านการประสานการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย
ให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) โดยได้จำลองสถานการณ์เพื่อฝึกทดสอบการติดต่อสื่อสารการค้นหาและช่วยเหลือเรือ
ที่ประสบภัย

สถานการณ์จำลอง ในวันที่ 13 มี.ค. 2566 เวลา 04.30 น. (UTC) หรือเวลา 11.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้มีเรือโดยสาร สัญชาติไทย ชื่อเรือ BLUE OCEAN นามเรียกขาน AVXC เดินทางออกจากท่าเรือ Chittagong ประเทศบังกลาเทศ ปลายทางท่าเรือ Chennai ประเทศอินเดีย ขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ที่พิกัด 17 องศา
30 ลิปดาเหนือ 89 องศา 30 ลิปดาตะวันออก เกิดเหตุไฟไหม้บนเรืออย่างรุนแรง กัปตันเรือและลูกเรือ
ได้ทำการดับไฟ แต่ไม่สามารถทำการดับได้ กัปตันจึงตัดสินใจทำการสละเรือ เพื่ออพยพลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด จำนวน 350 คน ออกจากเรือ โดยบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นเขตความรับผิดชอบ
ในการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศบังกลาเทศ (MRCC Dhaka) ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ ประสบเหตุไฟไหม้และต้องการอพยพคนทั้งหมดออกจากเรือ ทำให้การปฏิบัติการค้นหา
และช่วยเหลือ ไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยค้นหาและช่วยเหลือหน่วยเดียว หรือหน่วยงานต่าง ๆ
ของประเทศเดียว จำเป็นที่จะต้องขอรับความช่วยเหลือจากประเทศข้างเคียงด้วย จึงเป็นการปฏิบัติการช่วยเหลือเหตุประสบภัยขนาดใหญ่ (Mass Rescue Operation : MRO) โดยเจ้าหน้าที่ MRCC Dhaka ทำหน้าที่
เป็นผู้ประสานภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย (Search and Rescue Mission Coordinator : SMC) ได้สั่งให้เรือลาดตระเวนของบังกลาเทศ (Bangladesh Coast Guard ship) พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ออกเดินทางไปยังเรือที่ประสบเหตุ เพื่อทำการช่วยดับไฟและประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ซึ่งเมื่อเรือลาดตระเวนไปถึง
จุดเกิดเหตุ ได้มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ (On Scene Commander : OSC) จากนั้น MRCC Dhaka
ได้ทำการประสานงานกับ BKKRCC MRCC Chennai และ MRCC Yangon เพื่อให้ช่วยสนับสนุนการช่วยเหลือ
ในการดับไฟและอพยพลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด ไปยังเรือ ROYAL EMPIRE เพื่อนำลูกเรือและผู้โดยสารส่งกลับประเทศไทยต่อไป โดยจากเหตุการณ์นี้ มีลูกเรือได้รับบาดเจ็บจำนวน 9 คน และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 คน ได้รับการปฐมพยาบาลจากเจ้าหน้าที่แพทย์และนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงได้อย่างปลอดภัย

 

ภาพการฝึกทดสอบการติดต่อสื่อสารการค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย ระดับภูมิภาค
(Regional Maritime Search and Rescue Communication Exercise : Regional SARCOMEX)
ในวันที่ 13 มี.ค. 2566